วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

คุณค่าของทัศนศิลป์

คุณค่าของทัศนศิลป์
ศิลปะเป็นผลงานของมนุษย์ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมามีหลายลักษณะและวิธีการสร้างแตกต่างกันไป ได้แก่ ภาพเขียน รูปปั้น งานก่อสร้าง งานประพันธ์ รวมถึง เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับตกแต่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาจิตใจให้มีความสุขได้

ทัศนศิลป์ จึงเป็นศิลปะแขนงที่ให้คุณค่าแก่มนุษย์อีกหลายด้าน จะเห็นได้จากประโยชน์ดังต่อไปนี้
ด้านการอยู่อาศัย มนุษย์ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยจากอดีตกาลจากถ้ำ เพิงผา มาเป็นบ้านแบบง่ายๆ ต่อมารู้จักต่อเติมตกแต่งให้สวยงามและมีประโยชน์มากขึ้น
ด้านเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน มนุษย์ได้พัฒนาโดยนำศิลปะเข้าไปเกี่ยวข้อง ในรูปของงานหัตถกรรม หรืองานอุตสาหกรรมศิลป์

นอกจากนำศิลปะมาประกอบให้เกิดประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยโน้มน้าวจิตใจให้มีความรักในความงามของธรรมชาติ และความงามของศิลปะ ย่อมจะทำให้จิตใจอ่อนโยน ดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งทางกายและจิตใจ
ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาทัศนศิลป์ คือสามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์กับการเรียนการปฏิบัติงานในสาขาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม สถาปัตยกรรม สังคมศึกษา สื่อสารมวลชน การออกแบบ การตกแต่งบ้านเรือน ตลอดจนการแต่งกายได้อีกด้วย
ดังนั้นการศึกษาทัศนศิลป์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและคุณค่าทางด้านสุนทรียภาพ กระทั่งการรู้จักนำศิลปะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันอย่างสมบูรณ์แบบ และยังสามารถนำคุณค่าเหล่านี้ไปพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

ฐานของงานศิลปะ
ฐานของงานศิลปะประกอบด้วย
1. ฐานที่มา
2. ฐานของการรับรู้

ฐานที่มา
มนุษย์ + สิ่งแวดล้อม + สื่อ แล้วจึงได้กลายเป็น ศิลปะ หรือ
Man + Environment + Media กลายเป็น Art
ทัศนะของคนเราแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ธรรมชาติ กล่าวคือ ถ้าเป็นภาพเขียนสิ่งของธรรมชาติหรือ ภาพมนุษย์ ก็จัดได้ว่าเป็นงานประเภทที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ ดังนั้นการที่จะหวังให้ศิลปินแสดงทัศนะให้ตรงกับความต้องการของผู้ดูจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก งานศิลปะก็คือ ผลงาน ของการแสดงความรู้สึกนึกคิดเฉพาะตัวของศิลปิน โดยผ่านสื่อกลาง(Media) ออกมาเป็นงานศิลปะ

ฐานที่มาของงานทัศนศิลป์ ประกอบด้วย

1.1 ศิลปิน (Artist) เป็นผู้ถ่ายทอดผลงานศิลปะโดยได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยความรู้สึกประทับใจหรือเกิดความสะเทือนอารมณ์ จึงถ่ายทอดออกมาตามอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการเฉพาะตน
1.2 สิ่งแวดล้อม (Environment) ได้แก่ ธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนา เรื่องจากประวัติศาสตร์ เรื่องราวจากวรรณคดี ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งเร้า เป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์เกิดอารมณ์ความรู้สึกและแสดงออกด้วยการถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปกรรม
1.3 สื่อ/วัสดุ (Media) ได้แก่ กระดาษ สี ดินสอ หิน ไม้ ปูน ฯลฯ ซึ่งศิลปินได้ซึมซับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม แล้วนำไปถ่ายทอดลงบนสื่อให้ออกมาเป็นรูปธรรม
1.4 ผลงานศิลปะ (ART) เป็นผลงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจในสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ โดยผ่านสื่อให้ปรากฏเป็นรูปธรรมเรียกว่า "ผลงานศิลปะ"

ไม่มีความคิดเห็น: